วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“การรักษาความดีในตน ส่งผลให้สังคมดีงาม”

“.....การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน และยิ่งทำมากเข้านานเข้า ยั่งยืนเข้า ผลดีก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น และแผ่ขยายกว้างออกไปทุกที คนที่ไม่เคยทำความดีเพราะเขาไม่เคยเห็นผล ก็จะได้เห็นและหันเข้าตามอย่าง....”
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
จากพระบรมราโชวาท แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นในการทำความดี ซึ่งไม่ได้เริ่มจากกลุ่มคน หรือรอคอยบุคคลใด บุคคลหนึ่ง แต่เป็นการเริ่มต้นจากตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอคอยใคร หากได้ลงมือ ลงแรง ทำความดีแล้ว ผลจากการที่ทำความดีย่อมเกิดขึ้นแน่นอน คนที่ไม่เคยทำดีเพราะไม่เคยเห็นผลหรือท้อใจในการทำความดี ก็จะหันกลับมาทำความดี ส่งผลให้สังคมดีงามตามมา
การทำความดี คือ การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน ไม่เบียดเบียนทั้งกับตนเองและผู้อื่น ไม่มั่วเมากับสิ่งของที่ไม่ใช่ของตนเอง หรือผลประโยชน์ที่เป็นของส่วนร่วม ไม่เสพสุขกับสิ่งของที่เป็นส่วนเกิน เช่น ทรัพย์สมบัติของชาติบ้านเมือง เป็นต้น การทำความดีนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายดายและไม่ยากนักแต่มีหลายคนในสังคม ที่ไม่เข้าใจว่าการทำความดีต้องเริ่มต้นอย่างไร ดิฉันเองมีความเชื่อว่าทุกคนต่างต้องการทำความดี เพราะทำความดีแล้วก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี ทั้งกับตนเอง และสังคม เช่น อยากจะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ได้อย่างสบาย เพราะมีคนอยากให้อยู่ , อยากจะไปไหน ก็ไปได้สะดวก เพราะมีคนอยากให้ไป ,อยากจะทำอะไร ก็ทำสำเร็จ เพราะมีคนอยากช่วยเหลือ และสิ่งที่แน่นอนเสมอคือ ใจเราก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ
สังคมคมไทยในอดีต เป็นสังคมที่ร่มเย็น ผู้คนต่างมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีปัญหาก็ช่วยเหลือกัน โดยไม่หวังผลกำไร หรือผลตอบแทนที่ได้รับ เช่น การร่วมทำนาหรือที่เรียนว่าประเพณีการลงแขก ชาวบ้านต่างร่วมมือร่วมแรงช่วยเหลือกัน โดยไม่หวังเงินทองหรือค่าตอบแทนใดๆ อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง ดำเนินชีวิตกันแบบเรียบง่ายไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน มีความรักและความสามัคคี สังคมอยู่อย่างสงบสุขอยู่กันแบบพอเพียง แต่ในปัจจุบันนี้สังคมไทย ต่างเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตจากเดิมมาก แทบจะมองหา ความมีน้ำใจในสังคม หรือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือกันโดยไม่หวังผลตอบแทนยาก ต่างใช้ทรัพย์สินหรือเงินทองเป็นตัวประเมินค่าความสุขของตนเอง อาจเนื่องมาจากสภาพทางเศรษฐกิจในสังคมที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ค่านิยมในสังคม ที่ใช้ทรัพย์สิน เงินทอง ในการประเมินค่าความสุขให้กับตนเอง บางครั้งอาจเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น หรือคนรอบข้างอีกด้วย ผู้คนต่างทำงานแข่งขันกับเวลา หวังผลกำไรเป็นส่วนใหญ่ มองหาผลประโยชน์ส่วนตัว ใช้จ่ายเกินความจำเป็น ส่งผลกระทบต่อคนในสังคม หลายครั้งที่มีการเอารัดเอาเปรียบของคนในสังคม ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามาก เช่น ปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นภายในประเทศซึ่งถือเป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่แก้ไขไม่ได้สักครั้ง ไม่ว่าจะมีมาตรการใดๆมาช่วยแก้ไขปัญหาก็ตามแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการลักล้อมขายสมบัติของชาติ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ผิด ยอมรับค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง มีมุมมองและทัศนคติในการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักวัตถุนิยม เน้นความสะดวกสบาย และมีการพัฒนาสภาพจิตใจที่น้อยมาก คนในสังคมห่างไกลจากวัดวาอาราม ไม่มีที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่มีหลักในการดำเนินชีวิต คนในสังคมจึงละทิ้งในการทำความดี หันมาทำความชั่วหรือนิ่งเฉยที่จะทำความดี เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ หรือบางคนไม่กล้าทำความดีเพราะกลัวที่จะทำ และไม่รู้ว่าทำแล้วตนจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขหรือไม่ จะมีทรัพย์สินเงินทองมาปรนเปรอความสุขให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างไร และไม่รู้ว่าจะเริ่มตนทำความดีได้อย่างไร หรือรอให้คนอื่นทำก่อน การทำความดีก็คงไม่เกิดขึ้น หากเป็นเช่นนั้นแล้วสังคมไทยจะเป็นสังคมที่สงบสุขและมีความดีงามได้เช่นไร หากคนในชาติยังคงปฏิบัติตัวเช่นนี้อยู่
คนไทยถือว่าโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตั้งอยู่ในความดี เป็นแบบอย่างให้กับคนไทยและคนทั่วโลก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการทำความดีไว้หลายประการ โดยดิฉันได้กล่าวไปเมื่อสักครู่นี้ และดิฉันขอยกเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอีกประการหนึ่งเพื่อเป็นหลักในการทำความดีที่ถูกต้องของเยาวชนไทยและเยาวชนทั่วโลก
“........การที่บุคคลจะทำความดีให้ได้จริง และต่อเนื่องไปโดยตลอดได้ จะต้องอาศัยหลักปฏิบัติที่ถูกต้องแน่นอน. ประการแรกจะต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในความดี เห็นว่าความดีหรือสุจริตธรรมย่อมไม่ทำลายผู้ใด หากแต่ส่งเสริมให้เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์ และเจริญมั่นคง. เมื่อเกิดศรัทธาแน่วแน่ในความดีแล้ว ก็จะต้องตั้งกฎเกณฑ์ ตั้งระเบียบให้แก่ตนเอง สำหรับควบคุมประคับประคองให้ปฏิบัติแต่ความดี และรักษาความดีไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ไม่ให้บกพร่อง คลอนแคลน. พร้อมกันนั้น ก็จะต้องพยายามเพิกถอน ลด ละ การกระทำ และความคิดอันจะเป็นเหตุบั่นทอนการกระทำดีของตนด้วยตลอดเวลา. สำคัญยิ่งกว่าอื่น ทุกคนจะต้องอาศัยปัญญา ความฉลาดรู้เหตุผล เป็นเครื่องตรวจสอบ พิจารณา วินิจฉัย การกระทำความประพฤติทุกอย่างอยู่เสมอโดยไม่ประมาท เพื่อมิให้ผิดพลาดเสื่อมเสีย. เมื่อประกอบความดีได้โดยถูกถ้วน ก็ย่อมได้รับประโยชน์ที่สมบูรณ์แท้จริง คือประโยชน์ที่เกื้อกูลให้มีความสุขความเจริญได้ในปัจจุบัน และยั่งยืนมั่นคงตลอดไปถึงภายหน้า.......”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ไม่มีอำนาจใดๆเลยที่จะทำให้ เราอยู่เย็นเป็นสุขได้ นอกจากพวกเราทุกคนจะต้องสร้างสรรค์ชีวิตให้ดี โดยการทำความดีและน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชไปปฏิบัติ รักษาความดีของตน เช่นดังเกลือที่รักษาความเค็ม และผลจากการทำความดีนั้นก็จะส่งผลให้สังคมดีงาม .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น